ท่านสามารถอ่านภาคแรกของบทความชุด “หนังสือในมือประชาชน” ได้ที่นี่
คอลัมน์ความคิดเห็น โดย วิทยากร โสวัตร
เราลองตั้งสมมติฐานง่ายๆ ว่า ถ้ามีคนสองคน คนที่หนึ่งมีหนังสืออยู่ในมือ ส่วนคนที่สองไม่มีหนังสืออยู่ในมือ ถามว่าสองคนนี้ใครมีความน่าจะเป็นหรือมีโอกาสที่จะอ่านหนังสือมากกว่ากัน คำตอบคือคนที่หนึ่ง หรืออย่างน้อยที่สุดคนที่มีหนังสืออยู่ในมือ แต่คนที่สองซึ่งไม่มีหนังสืออยู่ในมือมีความน่าจะเป็นได้อย่างเดียว คือ ไม่อ่านหนังสือ
ดังนั้นที่พูดกันว่า “คนไทยไม่อ่านหนังสือ” จริงๆ แล้วคนไทยไม่อ่านหนังสือเองหรือถูกทำให้ไม่ได้อ่านหนังสือ ส่วนตัวผมคิดว่าคนไทยถูกทำให้ไม่ได้อ่านหนังสือ
ล่าสุดผมเพิ่งได้อ่าน ความย่านกับความอยากของพัฒนา กิติอาษา : บทนำเสนอ โดยทวีศักดิ์ เผือกสม และ ชนิดา เผือกสม ในหนังสือ สู่วิถีอีสานใหม่ ของพัฒนา กิติอาษา ชี้ให้เห็นอีกหนึ่งสาเหตุที่คนไทย/อีสานถูกทำให้ไม่ได้อ่านหนังสือหรือเข้าไม่ถึงแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต
…เมื่อมีการยกเลิกระบบไพร่ทาสลงในช่วงปลายสมัยของรัชกาลที่ 5 เพื่อบีบบังคับ ให้ราษฎรหาเงินมาจ่ายภาษีรายหัว รัฐบาลเองก็แทบจะไม่มีการให้ความช่วยเหลือใดๆ เมื่อมีการให้คำเสนอแนะใดๆ ก็ถูกทางการมองว่า เป็นภัยคุกคามต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังเช่น การสั่งห้ามตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือว่าด้วยเรื่อง “ศาสตร์แห่งทรัพย์” หรือ ทรัพยศาสตร์ ของเจ้าพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) ขึ้นในปี 2453 หรือเพียง 1 ปีถัดมาหลังจากที่รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสวรรคต
สิ่งที่ดูเหมือนว่าทางราชสำนักสยามจะยอมให้ราษฎรสามารถใช้เป็น “เครื่องมือ” ในการเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนของระบบเศรษฐกิจแบบการตลาดได้เพียงอย่างเดียวก็คือสิ่งที่เรียกกันว่าตำราพรหมชาติ ซึ่งได้ถูกตีพิมพ์ขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายๆ สมัยของรัชกาลที่ 5 ในปี 2445 จนอาจกล่าวได้ว่า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ตำราพรหมชาติ ดังกล่าวนี้ก็จะกลายไปเป็นเสมือนกับ “เครื่องไม้เครื่องมือ” ที่เหลือเพียงอย่างเดียวของราษฎรทั้งหลายที่พอจะวางใจได้สำหรับการทำนายทายทักโชคชะตาและวาสนาของตัวเอง… ส่งผลให้ตำราดังกล่าวนี้ได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นจากราษฎรทั้งหลาย เสมือนเป็น “คลังแห่งความรู้”
เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วประชาชนก็ถูกตราหน้าและตราหน้ากันเองว่า “คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด” อันเป็นมายาคติที่ไม่มีงานวิจัยจริงๆ รองรับ แต่ถึงจะรู้เช่นนั้นแล้วยังพูดกันเรื่อยๆ อยู่ว่า “คนไทยอ่านหนังสือน้อย” โดยเฉพาะในวงนักคิดและนักวิชาการยามต้องการพร่ำบ่นถึงภาวะเสื่อมถอยทางปัญญาของสังคม ทั้งที่ประชาชนถูกทำลายโอกาสอ่านหนังสือผ่านโครงสร้างของรัฐ แต่คนเรามีความอยากรู้อยากเห็น เป็นทุนอยู่แล้วจึงขวนขวายหาหนังสืออ่านเอง แต่ปรากฏว่าหนังสือมีราคาแพง
ผมเคยนำหนังสือวรรณกรรมที่ดีมากคือ ฟ้ากว้างทางไกล : Papa You’re Crazy และ ความสุขแห่งชีวิต : The Human Comedy ผู้เขียน William Saroyan (วิลเลียม ซาโรยัน) ผู้แปล วิภาดา กิตติโกวิท จัดพิมพ์โดย มูลนิธิหนังสือเพื่อสังคมซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนตั้งต้นจากสสส.ไปขายในงานที่โรงเรียนของลูกๆ เด็กและผู้ปกครองหลายๆ คนสนใจแต่ขายได้เพียงเล่มเดียว เมื่อถามเหตุผลก็ล้วนได้รับคำตอบเดียวกันคือ หนังสือแพงเกินไป (340 บาท และ 380 บาท) ซึ่งมันก็แพงจริงๆ หากเทียบกับค่าขนมที่ผมให้ลูกอาทิตย์ละ 150 บาท
แน่นอนว่าถ้าคนมันไม่อยากอ่าน มันก็ไม่อ่าน การไม่ได้ปลูกฝังนิสัยสันดานอยากอ่าน ย่อมเป็นรากแก้วของอาการไม่อ่านหนังสือ ส่วนคนที่อยากอ่านจะมีเวลาน้อยอย่างไรก็ยังอ่าน ผมรู้จักกับหลายครอบครัวในจังหวัดอุบลราชธานีที่มีลูกๆ วัยเรียนที่เรียนพิเศษ แต่ก็ยังมีเวลาอ่านหนังสือ มาร้านหนังสือผมแต่ละทีก็ซื้อหนังสือเล่มหนากลับไปอ่าน
แต่ตัวอย่างทั้งหลายที่ผมว่ามานี้ ล้วนเป็นครอบครัวที่มีกำลังจ่าย ส่วนคนที่ไม่มีกำลังจ่ายอย่างผม หนังสือเล่มละ 380 บาทมันแพงนะต้องคิดมาก จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผมเปิดร้านหนังสือเพื่อให้ลูกๆ ได้เข้าถึงหนังสือ
ทำไมหนังสือถึงแพง?
เท่าที่ผมรู้ หนังสือแพงเกิดจาก “วิธีคิดที่จุดคุ้มทุน” กล่าวคือ ถ้าพิมพ์หนังสือ 2,000 เล่ม เขาจะคิดจุดคุ้มทุนที่ 500 เล่ม (ข้อมูลนี้เมื่อ 10 กว่าปีก่อน) คือถ้าขายตามราคาปกได้ 500 เล่ม ก็ได้ทุนคืน วิธีคิดคือเอาค่าใช้จ่ายทุกกระบวนการในการพิมพ์หนังสือ 2,000 เล่มนั้นก็หารด้วย 500 เล่มก็จะได้ราคาปก
ถึงตรงนี้ ถามว่าห้องสมุดประชาชนเป็นทางออกได้ไหมตอบว่าไม่ได้เพราะมีลักษณะเป็นราชการ คือขึ้นชื่อว่าราชการตั้งแต่อาคาร การบริหารจัดการ ลักษณะของหนังสือเป็นการตอบสนองอุดมการณ์แค่อุดมการณ์เดียว อีกทั้งห้องสมุดที่มีหนังสือหลากหลายและดีๆ กลับอยู่ในสถาบันการศึกษาระดับสูงหรือองค์กรขนาดใหญ่ๆ เช่น โรงพยาบาล ซึ่งประชาชนก็เข้าไม่ถึงอีก บางแห่งอาจจะเข้าไปอ่านได้ แต่สงวนสิทธิ์ยืมได้เฉพาะบุคคลากรของหน่วยงานเท่านั้น
เมื่อสภาพการณ์เป็นดังนี้แล้วทำไมเราไม่ยกห้องสมุดไปไว้ในบ้านของประชาชน หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้นให้หนังสือไปอยู่ในมือประชาชนเสียเลย เหมือนอย่างที่โครงการ “อ่านสร้างชาติ” ของมูลนิธิกระจกเงาเอาหนังสือเล่มละบาทใส่ลังมาเกือบ 200 ลัง มาขายที่ร้านหนังสือของผมและตลาดวารินเจริญศรีถ้านับชั่วโมงที่เปิดขายไม่ถึงครึ่งวันเกลี้ยง
ที่สำคัญมีกรรมกรที่ทำงานก่อสร้างอยู่ใกล้ร้านผม เดินข้ามทางมาเลือกซื้อหนังสือ บางคนอ่านหนังสือไม่ได้ก็ให้คนอื่นช่วยเลือกให้เพราะเขาจะเอาไปให้ลูกหลานที่บ้านของเขาอ่าน เขาก็คอยบอกว่าเขาอยากให้ลูกหลานของเขารู้อะไร ที่สะเทือนใจกว่านั้นก็คือกรรมกรบางคนในนั้น พาลูกมาในวันต่อมาซึ่งไม่มีหนังสือเล่มละบาทแล้ว ก็ได้แต่ฝากลูกไว้ในร้านหนังสือและเลือกซื้อหนังสือให้ลูกและพวกเราก็หาหนังสือเป็นของฝากให้เด็กคนนั้น

มหกรรม “หนังสือเล่มละบาท” ของโครงการอ่านสร้างชาติ มูลนิธิกระจกเงา ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ภาพ: จรัญ มาลัยกุล
โอเคว่าโครงการหนังสือเล่มละบาทนี้ได้หนังสือมาจากการบริจาคทั่วประเทศในโครงการอ่านสร้างชาติ แล้วกระจายมาให้ถึงมือประชาชนด้วยการขายเล่มละบาทเพื่อไม่ให้มันดูไร้ค่านัก ซึ่งอาจถูกแย้งได้ว่ามันไม่มีต้นทุนการผลิตซึ่งก็ถูก แต่มันก็เป็นวิธีหนึ่ง (ที่ดีมาก) ไม่ใช่หรือ อย่างน้อยโรงเรียนทุกโรงเรียนทั่วประเทศก็แจ้งขอรับหนังสือเหล่านี้ได้ฟรี ต้องการหนังสือแบบไหน ทางมูลนิธิก็มีอาสาสมัครคัดแยกหนังสือไว้ให้ซ้ำยังตระเวนทำกิจกรรมเล่มละบาทตลอดปีอีกต่างหาก
จากโมเดลนี้ทำไมท้องถิ่นต่างๆ ไม่ทำบ้าง ถ้ามีองค์กรหรือกลุ่มคนลุกขึ้นมาทำตรงนี้ เราก็สามารถกระจายหมุนเวียนหนังสือให้กันได้
มีอีกโมเดลหนึ่งหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือโมเดลของหนังสือพระ ยกตัวอย่างที่วัดหนองป่าพง มีหนังสือธรรมะทั้งที่เป็นประวัติชีวิตและบทเทศนาของหลวงพ่อชา สุภทฺโท อยู่ในอาคารเผยแพร่ธรรมนั้นหลายสิบปก แต่ละปกเขียนบอกราคาต้นทุนไว้มีตั้งแต่ 10 – 20 – 30 สูงสุด 300 บาท ใครที่ต้องการก็สามารถหย่อนเงินลงในตู้ (แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องจ่าย แต่ผมก็เห็นว่าทุกคนที่หยิบหนังสือก็จ่ายทั้งนั้น)
ทางเรา ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟียกับมิตรสหาย ที่รักการอ่านและอยากกระจายหนังสือดีๆ ให้ถึงมือประชาชนในท้องถิ่นของเรา เพื่อสร้างฐานคนอ่านหนังสือ หรือจะเรียกว่าเพื่อสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นก็ได้ เราตั้งโครงการระดมทุนกันให้ได้ 3–5 หมื่นบาท เพื่อพิมพ์หนังสือเล่มแรกที่เราคัดกันอย่างดี
ในส่วนของการผลิตจะขอยกเคสที่เห็นภาพชัดที่สุดคือ หนังสือรวมเรื่องสั้นตะวันออกเฉียงเหนือ ของธีร์ อันมัย ภาพปกขาวดำ พิมพ์สีเดียว จำนวน 159 หน้า เย็บกี่ไสกาว จำนวนพิมพ์ 1,000 เล่ม ต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 25,000 บาท ราคาทุนตกอยู่ที่เล่มละ 25 บาท (แต่กระบวนการจัดหน้า รูปเล่มต้องทำกันเองเพื่อให้ประหยัดค่าใช้จ่ายที่สุด)
คุณอาจจะหัวเราะเราแล้วก็ได้เพราะคงคิดว่าเราจะตำน้ำพริกละลายแม่น้ำแน่นอนหนังสือต้องขายไม่ได้แน่ๆ เอาละอาจจะได้ไม่ได้แต่เราก็จะพิสูจน์ความเชื่อของเรา
แต่จะบอกไว้ก่อนว่าผมมีลูกค้าร้านหนังสือฟิลาเดลเฟียคนหนึ่งซึ่งเป็นคนหนุ่มทำธุรกิจพริกที่ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเขามีจิตกุศลซื้อหนังสือที่ร้านผมครั้งละเยอะๆ (ให้ผมเลือกให้อีกต่างหาก) เพื่อเอาไปให้ชาวบ้านแถวๆ ริมโขง อ.โขงเจียม เขารู้ว่าชาวบ้านต้องการอะไรจึงเกริ่นแนวหนังสือให้ผม ซึ่งก็ปรากฏว่าชาวบ้านที่ได้รับหนังสือก็อ่านหนังสือเหล่านั้นจริงๆ พอแต่ผมคุยเรื่องโครงการ หนังสือในมือประชาชนนี้กับเขา เขาก็บอกทันทีว่า
“เริ่มต้นผมซื้อ 10,000 บาท” นั่นหมายความว่าถ้าหนังสือต้นทุนเท่ากับหนังสือตะวันออกเฉียงเหนือ เราก็ขายได้แล้ว 400 เล่ม
เห็นอะไรในกรณีนี้ไหมครับ นี่ไงคือทุนทางสังคมมันมีคนแบบนี้อยู่จริงๆ ลองบอกเพื่อนฝูงเราที่ทำงานแล้วสิ บางคนบอกช่วย 4 เล่ม (100 บาท) บางคนอาจสนับสนุน 1,000 บาท (40 เล่ม) ขอแค่ให้เราทำจริงเถอะ
อย่างลูกค้าผมคนนั้นเขาก็บอกอีกว่า ตัวเขาขอหนังสือเก็บไว้เอง 10 เล่ม อีก 390 เล่มให้เรากระจายออกไปให้ ถามว่ากระจายแบบไหน ก็กระจายแบบเล่มละบาทบ้าง (ในกรณีนี้ โดยการให้มิตรสหายในโครงการที่เป็นนักศึกษาไปทำกิจกรรมการอ่านการเขียนและแนะนำแนวทางชีวิต ให้แรงบันดาลใจกับรุ่นน้องที่โรงเรียนเก่าเขา จากนั้นก็ขายเล่มละ 1 บาท 2 บาท 5 บาท ก็ว่าไป เพื่อไม่ให้พวกเขารู้สึกไร้ค่า)หรือจะกระจายโดยให้นักศึกษาที่ชอบทำค่ายแล้วก็เลยไปถือกล่องรับบริจาคตาม ตลาดนัด เวลาคนเขาให้เงินมา 10 บาท 20 บาท ก็ยื่นหนังสือแลกกับเขา (จะได้ดูมีสติปัญญาที่เรียนระดับอุดมศึกษาหน่อย 555)
เมื่อได้ทุนคืนมาแล้ว ก็ทำอีกเล่ม ลองดูซิว่าภายใน 1 ปีจะได้ทุนพิมพ์เล่มต่อไปไหมหรือจะขายหมดไหม
ปลายปีนี้คงได้รู้กัน!
Witayakara Sowattara
วิทยากร โสวัตร เป็นนักเขียน คนสวน และพนักงานดูแลความฝันของคู่ชีวิตในนามร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย พื้นเพมาจากกาฬสินธุ์ วัยเยาว์เคยบวชเป็นสามเณรอยู่แปดปีจนได้เปรียญธรรมสี่ประโยค จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี